นโยบายการบริหารงาน
คำแถลงนโยบาย
ของนายวีระเดช ภู่พิสิฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
ต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
วันที่ 14 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2568
—————————–
เรียน ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
ท่านรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
ท่านสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน
ตามที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ให้ข้าพเจ้านายวีระเดช ภู่พิสิฐ ได้รับเลือกตั้งให้ทำหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ประกอบกับตามความในมาตรา 35/4 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ว่า ก่อนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นั้น
ข้าพเจ้า ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และคณะผู้บริหาร ได้กำหนดแนวทางการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ตามอำนาจหน้าที่และแนวทางในการจัดระบบบริการสาธารณะ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด และตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยได้กำหนดนโยบายในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ไว้ 8 ด้าน จึงขอแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ดังนี้
1. ด้านการศึกษา
การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในจังหวัดลำพูน จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษาให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียม ให้กับนักเรียน เยาวชน และประชาชนของจังหวัดลำพูนเพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
1.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในจังหวัดลำพูน ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
1.2 พัฒนาสถานศึกษาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย มีโครงสร้างพื้นฐานและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม ทันสมัยและเพียงพอ เพื่อสร้างคุณภาพทางการเรียนรู้กับผู้เรียนทุกด้าน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามความถนัดและความสนใจ ตรงกับศักยภาพของตนเอง
1.3 ส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษา และเงินช่วยเหลือ ให้เด็กและเยาวชนที่ยากจน
หรือด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา
ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
1.4 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาระบบทวิภาคี และการฝึกงาน โดยร่วมมือกับสถานประกอบการในจังหวัดลำพูน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง และมีรายได้ระหว่างการศึกษา
1.5 ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้ แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน และส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้
1.6 ส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีมาตรฐาน และมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการดูแล
เด็กปฐมวัย สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองรับการดูแลเด็กได้ทุกวัน
1.7 ส่งเสริมและสนับสนุน การทำนุบำรุงศาสนา อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาในท้องถิ่นของจังหวัดลำพูน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
2. ด้านความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อทำให้การทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ยึดโยงกับประชาชน โดยยึดหลัก
ธรรมาภิบาล เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และตอบสนองในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง
อีกทั้งเกิดประสิทธิภาพในการบริหารองค์กร โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
2.1 ปรับปรุงเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งโครงการ และการดำเนินงานได้สะดวก โดยยึดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสากล
2.2 พัฒนาระบบร้องเรียนออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.3 ปรับปรุงกระบวนการให้บริการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้ประชาชนสามารถขอรับบริการผ่านระบบออนไลน์ได้ สะดวก รวดเร็ว ลดภาระของประชาชนในการเดินทางมาติดต่อราชการ
2.4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดองค์กรสภาพลเมืองลำพูน เพื่อให้ประชาชนสามารถเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจังหวัดลำพูน และตรวจสอบการทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
2.5 ผลักดันให้มีการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
3.ด้านสาธารณสุข และการดูแลกลุ่มเปราะบาง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุม ด้านส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำของระบบบริการสุขภาพ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
3.1 พัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี
และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิ และให้มีความพร้อมในด้านบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอต่อการบริการ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนารูปแบบ
การบริหารจัดการเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนระบบบริการสุขภาพในพื้นที่จังหวัดลำพูนเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี
3.2 สนับสนุนให้มีการบริการทันตกรรม กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ฟอกไตเทียม และ
ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างเท่าเทียมและครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดลำพูน
3.3 พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดลำพูน สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง
3.4 สนับสนุนให้มีนักโภชนาการ เพื่อดูแลภาวะโภชนาการให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัย
3.5 ส่งเสริมการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รวมถึงภาคีเครือข่าย
ด้านสุขภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริการสุขภาพในชุมชนให้เข้มแข็ง
3.6 ส่งเสริมสนับสนุนการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
4. ด้านการเกษตร
ประชาชนในจังหวัดลำพูนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จึงจำเป็นส่งเสริมเกษตรกรรมในจังหวัดลำพูนให้ยั่งยืน ปลอดภัย และแข่งขันได้ในตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชน โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
4.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรในจังหวัดลำพูน ให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ในการบริหารจัดการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมให้เกิดตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย มีคุณภาพ และพัฒนาตราสินค้าเกษตรลำพูน รวมถึงการรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้
ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าการเกษตรของจังหวัดลำพูน
4.2 พัฒนาแหล่งน้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเกษตร รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและครบวงจร
4.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยลดต้นทุน
ในภาคการเกษตร เช่น โดรนเพื่อการเกษตร เครื่องอัดเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการใช้งาน
4.4 ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์
4.5 ส่งเสริมการจัดตลาดเกษตรชุมชน และเทศกาลสินค้าเกษตร รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง
4.6 สนับสนุนการสร้างกลไกเพื่อตรวจสอบสารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางการเกษตร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่
5. ด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ นำรายได้มาสู่ชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดลำพูน โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
5.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดเทศกาล กิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ทั้งที่เป็นแบบเชิงอนุรักษ์ และร่วมสมัย ให้เป็นที่รู้จักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
5.2 ส่งเสริมการจัดตลาดชุมชน ถนนคนเดิน เพื่อเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ที่มีมาตรฐาน และดึงดูดนักท่องเที่ยว
5.3 สนับสนุนการท่องเที่ยวบนฐานชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยให้ชุมชนมีศักยภาพในการออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างเครือข่าย โฮมสเตย์ มัคคุเทศก์ชุมชน และกิจกรรมท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5.4 สนับสนุนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านการทำตลาดแบบดิจิทัล สร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัล เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน
5.5 ส่งเสริมให้เกิดตลาดแรงงานจากการท่องเที่ยว รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ และผู้พิการ ที่มีความสามารถและยังต้องการทำงานเพื่อสร้างรายได้
6. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และขนส่งสาธารณะ
ระบบขนส่งสาธารณะ และเส้นทางคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ ที่เพิ่มโอกาส
ทางเศรษฐกิจในจังหวัดลำพูน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมขนส่งสาธารณะ และเส้นทางคมนาคม ที่สะดวก ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดปัญหาจราจร และมลภาวะ โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
6.1 สนับสนุนให้จังหวัดลำพูน มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และมลภาวะต่ำ รองรับคนทุกกลุ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และ นักท่องเที่ยว
6.2 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงระบบขนส่งในจังหวัดลำพูน ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งปัจจุบันของรถสาธารณะ เพื่อวางแผนการเดินทาง รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง
6.3 ส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้พาหนะส่วนตัว โดยเฉพาะการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการขนส่งเพื่อความสะดวก และสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่
6.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เช่น ถนน สะพาน ไฟฟ้าส่องสว่าง และระบบน้ำสะอาด เพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
6.5 ส่งเสริมให้องค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถตอบสนองประโยชน์ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. ด้านพัฒนาการกีฬา
การกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย เป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคี สร้างโอกาสทางอาชีพ และเป็นรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
7.1 ปรับปรุงสนามกีฬาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้ได้มาตรฐาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และขยายเวลาเปิดให้บริการสนามกีฬาให้ประชาชนสามารถใช้สนามกีฬาในเวลากลางคืน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมออกกำลังกาย ลดปัญหายาเสพติด และส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน
7.2 จัดให้มีพื้นที่การกีฬาให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยสร้างสนามกีฬามาตรฐานในเขตชุมชนและพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
7.3 สนับสนุนการแข่งขันกีฬา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในชุมชน ส่งเสริมการแข่งขันกีฬา
ในระดับโรงเรียน ชุมชน อำเภอ และจังหวัด เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนในการพัฒนาทักษะการกีฬา ตลอดจนจัดการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีและลดความตึงเครียดจากการทำงาน
7.4 สนับสนุนกิจกรรมกีฬาพื้นบ้าน และกีฬาวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์ประเพณีและเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน
7.5 ส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพสามารถเข้าสู่วงการกีฬาอาชีพ หรืออาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์การกีฬา นักโภชนาการกีฬา และการบริหารจัดการกีฬา
8. ด้านการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ
การป้องกันภัยพิบัติ คือการป้องกันและบรรเทาภัยอันเป็นผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน
เป็นการลดความสูญเสียของงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูหลังเกิดความเสียหาย โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
8.1 สนับสนุนการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศ และให้ข้อมูลแจ้งเตือนต่อประชาชน
เมื่อคุณภาพอากาศมีภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พร้อมผลักดันมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศ
8.2 เตรียมพร้อมเพื่อป้องกันน้ำท่วม ด้วยการบำรุงรักษาคูคลอง ลำเหมือง และตรวจสอบ
ระบบระบายน้ำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือป้องกันน้ำท่วม เช่น เครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย และมีแผนเผชิญเหตุเพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดอุทกภัย
8.3 พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า สามารถให้ข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนภัยในเขตจังหวัดลำพูน
เพื่อให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เตรียมตัวและป้องกันความเสียหายได้ทันท่วงที
8.4 พัฒนาแผนที่จุดเสี่ยงภัยพิบัติในจังหวัดลำพูน เพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
8.5 สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครต่าง ๆ เพื่อรับมือในการป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูเหตุภัยพิบัติ รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็น และพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ภัย
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นไปตามหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนและพัฒนางานองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยแต่งตั้งจากภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกันของคณะผู้บริหารและข้าราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นโยบายทั้ง 8 ด้านที่กระผมได้กล่าวมานี้ วางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและ การปฏิบัติได้จริงตามภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของพื้นที่ โดยกระผมและคณะผู้บริหาร มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ผลักดันให้นโยบายที่ได้แถลงนี้ ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว เพื่อพัฒนาให้จังหวัดลำพูน มีความเจริญก้าวหน้า โดยกระผมจะบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีประสิทธิภาพ มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมตรวจสอบการทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนและชุมชนเป็นที่ตั้ง
อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้นโยบายต่างๆ สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย กระผมต้องขอความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ คำแนะนำ จากทุกท่าน ทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการ พนักงานและเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน รวมถึงประชาชน ได้ช่วยกันสนับสนุน แปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และร่วมกันขับเคลื่อน ผลักดันให้บังเกิดเป็นรูปธรรม
กระผมขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่ร่วมรับฟังคำแถลงนโยบายการบริหารงานองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดลำพูนในครั้งนี้ และกราบขอบพระคุณประชาชนทุกท่าน ที่กรุณามอบหมายให้ความไว้วางใจกระผม ในการปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กระผมขอให้คำมั่นสัญญาว่า จะใช้ประสบการณ์ และความรู้ความสามารถที่มี มาตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดลำพูน ได้รับประโยชน์สูงสุด และสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ให้เป็นตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและของประเทศไทยต่อไป
ขอบคุณครับ